อาการกรดไหลย้อนสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย หากละเลยไม่รักษาอาจก่อให้เกิดเป็นโรคเรื้อรังได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักอาการกรดไหลย้อน วิธีรักษากรดไหลย้อนกันดีกว่า เพื่อที่จะได้รู้จักและป้องกันไปในตัว หากใครเริ่มมีอาการอย่าละเลย คิดว่าไม่เป็นไร ควรรักษาเบื้องต้นหรือพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงที่ไม่ได้ออกไปไหน ช่วงกักตัวหรือวันหยุดยาวหลาย ๆ คนก็จะกินแล้วก็ไปนอนเลย อาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้เช่นเดียวกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
อาการกรดไหลย้อนอันตรายไหม สาเหตุมาจากอะไร
อาการกรดไหลย้อนไม่ได้เป็นโรคร้ายที่อันตรายต่อชีวิต แต่ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของร่างกายลดลง สาเหตุของอาการกรดไหลย้อนคือ ภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จึงเป็นสาหตุของอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรืออาการขย้อน เรอเปรี้ยว ที่อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนคือ การกินอาหารมื้อหนักตอนดึก ๆ ทำให้อาหารไม่ย่อย การดื่มสุรา สูบบุหรี่ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการนี้
อาการกรดไหลย้อน หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบรักษา
- รู้สึกจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณอกบ่อยครั้ง
- มีอาการจุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้หลังทานอาหาร
- อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ
- กลืนอาหารได้ลำบาก ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง เสียงแหบแห้ง
สามารถแบ่งภาวะที่มีการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหาร เป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
- ระดับ 1 เป็นระดับที่อ่อนที่สุด อาการจะนาน ๆ ทีเป็นแล้วหายไป มีภาวะไหลย้อนนิดหน่อย ไม่ได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากเท่าไหร่ ถือว่าเป็นความปกติของร่างกาย เรียกว่า GER
- ระดับ 2 คือเกิดภาวะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับกระเพาะอาหาร อาจก่อให้เกิดการรบกวนสุขภาพและในการใช้ชีวิตประจำวัน เรียกว่า GERD
- ระดับ 3 คือเกิดภาวะไหลย้อนที่รุนแรงคือไหลเข้าสู่หลอดอาหารย้อนขึ้นมาจนถึงคอ เรียกว่า LPR
ข้อมูลจาก Bangkok Hospital
วิธีแก้กรดไหลย้อนด้วยตัวเอง
วิธีแก้กรดไหลย้อนนั้นสามารถเริ่มต้นรักษาได้ด้วยตัวคุณเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรักษากรดไหลย้อน และมีอีกหลายวิธีแก้กรดไหลย้อน ต้องทำอย่างไรบ้าง ไปดูกัน
- การรับประทานยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหารรักษาแผล ยาลดกรด
- ไม่เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร และไม่ควรทานอาหารก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมง
- เคี้ยวอาหารให้ช้าลง เพราะการทานอาหารแบบไว ๆ จะเพิ่มความดันในกระเพาะได้
- ทานอาหารในปริมาณครั้งละน้อย ๆ แต่เพิ่มครั้งบ่อยขึ้น
- นอนหลับในท่าหลังพิงหัวเตียง ให้หัวสูงกว่าเท้า 6-8 นิ้ว เพื่อไม่ได้กรดไหลย้อนขึ้นมา
เป็นกรดไหลย้อน ห้ามกินอะไรบ้าง เลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถอะ
- งดอาหารรสมัน เผ็ด น้ำอัดลม ช็อคโกแลต นม ชา กาแฟ
- ผลไม้ที่มีกรดสูง เช่น ส้ม องุ่น มะนาว สับปะรด มะเขือเทศ
- อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ผลไม้ดอง ผักกาดดอง กิมจิ
- หมากฝรั่ง เพราะต้องกลืนน้ำลายลงท้องมากขึ้น ทำให้กลืนลมลงกระเพาะอาหารมากขึ้น อาจจะนาน ๆ กินทีก็ได้
หากรักษากรดไหลย้อนมาเป็นเวลานานแต่ไม่ดีขึ้นเลย ควรปรึกษาแพทย์ อาจจะต้องนำไปสู่การผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร หรือส่องกล้องทางเดินอาหารนั่นเอง หากใครที่กำลังประสบอาการกรดไหลย้อนอย่าละเลย ต้องรักษาก่อนที่จะเกิดอาการเรื้อรัง
Credit:pixabay