คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ นอกจากจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ยังต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจตลอดในช่วงเวลา 9 เดือน รวมไปถึงเฝ้ามองพัฒนาการทารกในครรภ์ และเตรียมรับมือกับพัฒนาการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ทารกในครรภ์ มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการ พร้อมที่จะเป็นเด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ออกสู่โลกภายนอกได้อย่างมีคุณภาพ
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนแรก
เมื่อไข่และอสุจิมีการผสมกันแล้ว โครโมโซมจากคุณพ่อและคุณแม่จะเริ่มทำงานและกำหนดเพศ ผม สีตา และลักษณะเฉพาะต่างๆเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของทารกในครรภ์
- ลักษณะของทารกยังเหมือนวุ้นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว 5 – 7 วัน และฝังตัวที่ผนังมดลูก ตัวอ่อน ซึ่งจะมีการสร้าง รก และสายสะดือ เพื่อเป็นทางนำอาหารจากแม่สู่ลูกและขับของเสียจากลูกสู่แม่ ซึ่งจะอยู่ในถุงน้ำเรียกว่า amniotic sac และมีหน้าที่ป้องกันทารกจากการกระแทก
- มีการผลิตน้ำคร่ำเพื่อหล่อเลี้ยงปกป้องผิวหนังและตัวอ่อน ในส่วนของการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากมายยังดำเนินต่อไป เพื่อจะพัฒนาเป็นอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย
- ทารกในครรภ์ช่วงนี้ จะมีขนาดตัวโดยประมาณ 1/4 นิ้ว เริ่มมีการสร้างหัวใจ ตาและแขน
พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน
เป็นระยะสำคัญที่สุด จะมีการเจริญเติบโตเร็วมาก ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อไวรัส ยาที่รับประทาน รวมถึงอาหาร หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัว ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความพิการได้ ทารกในครรภ์ จะมีขนาด 1 นิ้วโดยประมาณ เรียกระยะนี้ว่า fetus
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน จะมีพัฒนาการรูปร่างที่ชัดเจน ส่วนศีรษะจะมีขนาดดูใหญ่กว่าอวัยวะส่วนอื่นๆ เริ่มมีใบหน้า ดวงตากลมดำ หู จมูก แขนขา มือเท้า เปลือกตาบน ลำตัวเริ่มยืดออก ในช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาวประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร
- ในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ตรวจพบว่าหัวใจเต้นแล้ว ซึ่งจะเห็นได้เมื่อทำอัลตราซาวด์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน ระบบประสาทส่วนกลางจะมีการพัฒนา หลอดประสาทซึ่งประกอบด้วยสมอง ไขสันหลังและเนื้อเยื่อเส้นใยประสาทมากมาย ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณกับเซลล์อื่นๆ เพื่อพัฒนาการตอบสนองและพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้ทารกเริ่มขยับตัว ทางเดินอาหารและอวัยวะรับสัมผัสต่างๆเริ่มมีการพัฒนา
พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน
พัฒนาการของทารกในครรภ์ 3 เดือนจะมีอวัยวะครบถ้วน มีดวงตา จมูก ปาก หน้าผาก ใบหู แขนขา นิ้วมือนิ้วเท้า เล็บ สามารถขยับแขนขากำมือ เหยียดมือ อ้าปากได้ ช่วงนี้ทารกจะมีขนาดตัวยาวโดยประมาณ 4 นิ้ว หรือประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร
- อวัยวะเพศมีการพัฒนาเป็นชายหรือหญิงแต่ยังเห็นไม่ชัดเจน อวัยวะสำคัญทั้งหมดมีการสร้างแล้วและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้
- สมองกำลังสร้างจุดเชื่อมต่อสัญญาณประสาท และระบบไหลเวียนและการขับถ่ายปัสสาวะเริ่มทำงาน ตับมีการผลิตน้ำดี รกเริ่มจะส่งผ่านสารอาหารจากคุณแม่สู่ทารกและขับของเสียออกผ่านทางสายสะดือ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน
เมื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 4 ทารกจะมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ตัวจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้ทารกจะมีขนาดตัวยาวเฉลี่ย 16 – 18 เซนติเมตร น้ำหนัก 200 กรัม มีผิวบางใสทำให้เห็นเส้นเลือดภายในได้อย่างชัดเจน มีการพัฒนาเปลือกตา ขนตา คิ้ว เล็บ ผม ลายมือ และสามารถขยับตัว ขยับแขนขา สามารถกำหมัด ดูดนิ้วโป้ง ดูดกลืนน้ำคร่ำได้
- ทารกครรภ์ในเริ่มแสดงความรู้สึกทางสีหน้าได้ ระบบประสาทกำลังเริ่มทำงาน และลิ้นเริ่มมีการพัฒนาปุ่มรับรส มีมวลกระดูกหนาแน่นขึ้น
- อวัยวะเพศภายนอกและภายในพัฒนาสมบูรณ์
พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือน
เมื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์เข้าเดือนที่ 5 ทารกจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร และน้ำหนัก 400 กรัม กล้ามเนื้อแข็งแรงและเริ่มดิ้น
- ผิวหนังจะเริ่มมีขนอ่อนๆขึ้น เริ่มมีผม และฟัน
- มีการสร้างชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย
- ผิวของทารกในครรภ์จะมีไขสีขาวเคลือบไว้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผิวระคายเคืองจากน้ำคร่ำ
- มีพัฒนาการรับรู้สัมผัสในด้านต่างๆ ทั้งแสง เสียง กลิ่น รส เวลาคุณแม่ลูบท้องทารกสามารถรับรู้ได้ ส่วนหูก็พัฒนาจนได้ยินเสียงของคุณแม่ การที่ทารกได้ยินเสียงต่างๆเช่นเสียงเพลงสามารถกระตุ้นประสาทการได้ยินให้ทำงานได้เร็วและช่วยให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ดีภายหลังคลอด
พัฒนาการทารกในครรภ์ 6 เดือน
เมื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 6 กล้ามเนื้อของทารกการพัฒนาได้สมบูรณ์ขึ้น มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ดี ช่วงนี้ทารกมีขนาดตัวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนัก 600 กรัม
- ทารกจะได้ยินเสียงหัวใจเต้นของแม่ และเริ่มคุ้นเคยกับเสียงแม่ และจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนอง
- ระบบหายใจดีขึ้น มีการพัฒนาในปอดเพื่อช่วยให้ถุงลมพองตัวได้ หายใจในน้ำคร่ำได้ ซึ่งอาจทำให้มีการสะอึกซึ่งทำให้รู้สึกได้ว่าทารกกระตุกอยู่ในท้อง ระบบประสาทสมองพัฒนาได้ดีขึ้นเรื่อยๆทางด้านการคิดและการต่อรอง มีการพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว
- อวัยวะเพศภายในกำลังพัฒนา เพศชายอัณฑะจะเริ่มคล้อยลง ส่วนเพศหญิง มดลูก รังไข่และช่องคลอดเคลื่อนไปประจำตำแหน่ง
พัฒนาการทารกในครรภ์ 7 เดือน
มีการสะสมไขมันใต้ผิวหนังทั่วตัวสำหรับทารกในครรภ์เดือนที่ 7 เพื่อรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย ช่วงนี้ทารกขนาดตัวยาว 35 เซนติเมตร น้ำหนัก 1000 – 1200 กรัม เริ่มขยับตัวไปในทิศทางที่ง่ายต่อการคลอด
- ทารกในครรภ์เริ่มลืมตาและกระพริบตาได้เมื่อเห็นแสงที่ส่องผ่านหน้าท้องของแม่ ระบบเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นพัฒนาได้ดีขึ้น
- ระบบประสาทสมองมีการพัฒนาควบคุมเวลาตื่นเวลานอนของทารกได้
พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 เดือน
เมื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์อยู่ในช่วงเดือนที่ 8 ทารกเริ่มมีการพัฒนาระบบประสาทที่สามารถรับรู้แสง และระบบภายในร่างกายโดยรวมมีการพัฒนาได้ดี ทารกจะดิ้นแรงขึ้น แต่ปอดยังคงพัฒนาไม่เต็มที่ ช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวยาว 40 – 45 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2000 – 2500 กรัม ทารกเริ่มกลับตัวหันศีรษะลงด้านล่าง
- ระบบประสาทสมองของทารกมรการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในสมอง และสมองมีรอยหยักมากขึ้น
- ระบบประสาทมีกระบวนการทำงานได้ไวขึ้น สามารถรับรู้ความมืดความสว่างได้
พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน
ปอดและผิวหนังของทารกจะมีการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ขึ้นสำหรับพัฒนาการของทารกในครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 9 มีการเตรียมพร้อมหายใจครั้งแรกหลังคลอด ช่วงนี้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวยาว 50 เซนติเมตร น้ำหนัก 2,800 – 3,000 กรัม ทารกจะเริ่มกลับศีรษะลงสู่ช่องเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมคลอด
- ระบบภูมิต้านทานกำลังทำหน้าที่ปกป้องทารกและยังคงพัฒนาต่อไปภายหลังคลอด
- สมองสามารถจะควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหมดได้
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดเพื่อที่จะส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ให้ได้เป็นไปในทางที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพ การทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่ ดื่มนมบำรุงครรภ์และเพื่อเป็นการบำรุงครรภ์ การกำจัดความเครียดที่จะเกิดกับคุณแม่โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก ในทุก ๆ อย่างถ้ายิ่งสรรหาสิ่งที่ดีมากเท่าไรก็จะส่งผลต่อทารกในครรภ์มากเท่านั้น