นมแม่ให้สารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และมีสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมทั้งยังย่อยง่าย ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาลและเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงวัยทารก รวมถึงมีผลต่อเนื่องที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีตลอดชีวิตของทารกที่กินนมแม่อีกด้วย เพราะนมแม่มีโมเลกุลภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าแอนติบอดี้ที่ทำลายเชื้อโรค จึงช่วยบำรุงและปกป้องทารกและเด็กเล็กได้ และเพราะเหตุนี้นมแม่จึงมีความสำคัญอย่างมาก น้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อทารกอย่างไร เรามี ประโยชน์ของนมแม่ รวมถึงวิธีเก็บน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่มาบอกกัน
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
หลากประโยชน์ของน้ำนมแม่ที่ดีต่อพัฒนาการและสุขภาพของลูกน้อย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คืออะไร ?
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ การที่คุณแม่ป้อนนมแม่ให้ลูกกินโดยตรงจากเต้านม การตัดสินใจให้นมลูกด้วยตัวเองหรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจส่วนตัว เพราะขึ้นอยู่กับเหตุผลบางประการของแต่ละบุคคล แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากให้นมด้วยตัวเอง หรือใช้เครื่องปั๊มนมปั๊มด้วยตัวเองก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ผสมน้ำผลไม้หรือน้ำเปล่า เป็นเวลา 6 เดือน และให้ต่อไปแม้ว่าจะได้รับอาหารแข็งแล้วก็ตาม แนะนำให้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึงอายุอย่างน้อย 1 ปี แต่ควรให้นมลูกบ่อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าลูกน้อยของคุณชอบอาหารมื้อเล็ก ๆ กินบ่อย ๆ หรือกินนมนานแค่ไหน สิ่งนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อลูกน้อยของคุณโตขึ้น ทารกแรกเกิดมักต้องการให้อาหารทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ภายใน 2 เดือนแรก และเปลี่ยนการให้อาหารเป็นทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงในเวลาต่อมา และภายในหกเดือนทารกส่วนใหญ่จะกินอาหารทุก ๆ 4-5 ชั่วโมง เป็นต้น
ประโยชน์ของนมแม่ ต่อเด็กทารก
ที่สุดของสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับทารก ใดใดก็คงหนีไม่พ้น ‘น้ำนมแม่’ ที่เต็มไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ครบถ้วนและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกน้อย แถมยังสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาการลูกน้อยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความแข็งแรง ความฉลาด อารมณ์ เป็นต้น คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่จะให้นมจากเต้าโดยตรง แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป คุณแม่อาจมีการสต๊อกนมเก็บแช่แข็งไว้ เพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น อย่างที่เรารู้กันว่าประโยชน์ของนมแม่นั้นสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพของลูกน้อย ทั้งเป็นแอนติบอดี้ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ให้กับทารกแล้วนั้น ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง ดังนี้
1. นมแม่ให้สารอาหารที่เหมาะสำหรับทารก
นมแม่มีทุกสิ่งที่ทารกต้องการในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตในสัดส่วนที่เหมาะสม ในช่วงวันแรกหลังคลอดหน้าอกของคุณจะผลิตของเหลวสีเหลืองข้นที่เรียกว่าน้ำนมเหลือง มีโปรตีนสูง น้ำตาลต่ำ และเต็มไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ จัดเป็นอาหารมหัศจรรย์อย่างแท้จริง
2. นมแม่มีแอนติบอดี้ที่สำคัญ
นมแม่เต็มไปด้วยแอนติบอดี้ที่ช่วยให้ลูกน้อยต่อสู้กับไวรัสและแบคทีเรียซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับน้ำนมเหลืองซึ่งเป็นนมแรก เมื่อเราสัมผัสกับไวรัสหรือแบคทีเรียเราจะเริ่มผลิตแอนติบอดี้ที่จะเข้าไปในนม จึงกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด สามารถปกป้องทารกไม่ให้ป่วยโดยการสร้างชั้นป้องกันในจมูก ลำคอ และระบบย่อยอาหาร ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น ปอดบวม ท้องเสีย และการติดเชื้อ
3. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจลดความเสี่ยงของโรค
เมื่อทารกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และอาจช่วยลดความเสี่ยงของทารกในการเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในหูชั้นกลาง การติดเชื้อทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร โรคหวัดและการติดเชื้อ การติดเชื้อในลำไส้ เป็นต้น นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของกลุ่มอาการเสียชีวิตของทารกอย่างกะทันหัน (SIDS) อีกด้วย
4. นมแม่ส่งเสริมน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพของทารก
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพและช่วยป้องกันโรคอ้วนในวัยเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาของแบคทีเรียในลำไส้ที่แตกต่างกัน และทารกที่กินนมแม่จะมีสารเลปตินในระบบมากกว่าทารกที่กินนมผสม เลปตินเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมความอยากอาหารและการกักเก็บไขมัน
5. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจทำให้เด็กฉลาดขึ้น
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจช่วยให้ทารกมีการพัฒนาสมองมากขึ้น และมีโอกาสน้อยที่จะมีปัญหาในการเรียนรู้เมื่อโตขึ้น และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีผลในเชิงบวกต่อพัฒนาการทางสมองในระยะยาวของทารกอีกด้วย
วิธีเก็บนมแม่ให้คงประสิทธิภาพ
คุณแม่หลายคนเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งที่จะต้องกลับไปทำงานนอกบ้าน และอาจฝากลูกน้อยไว้กับพี่เลี้ยงหรือคนในครอบครัว จึงอยากมั่นใจว่าน้ำนมแม่สำหรับลูกน้อยของคุณจะเพียงพอ ซึ่งคุณแม่สามารถปั๊มและเก็บนมแม่เอาไว้อย่างปลอดภัยได้อย่างง่าย ๆ ตามขั้นตอนของวิธีเก็บน้ำนมให้คงประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ก่อนปั๊มนมเก็บไว้ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หากไม่มีให้ใช้เจลล้างมือสูตรแอลกอฮอล์ที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริเวณที่สูบน้ำและชิ้นส่วนปั๊มและขวดสะอาดเพียงพอ ซึ่งคุณแม่ไม่จำเป็นต้องล้างหน้าอกและหัวนมก่อนปั๊ม จากนั้นทำการปั๊มน้ำนมเก็บไว้ ซึ่งวิธีเก็บนมแม่นั้นสามารถปั๊มได้ด้วยมือและเครื่องปั๊มนมตามความสะดวก
2. หลังจากปั๊มน้ำนมแล้วนั้นให้เก็บนมไว้ที่อุณหภูมิห้อง นมแม่สามารถใช้ได้นานถึง 4 ชั่วโมงหลังจากปั๊มที่อุณหภูมิห้อง หรือหากต้องการปั๊มเก็บไว้จำนวนมากหรือครั้งละเยอะ ๆ ให้นำไปแช่เย็น นมแม่สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 4 วัน และหากจะยังไม่ใช้นมแม่แช่เย็นภายใน 4 วันหลังการปั๊ม ให้แช่แข็งหรือช่องฟรีซทันทีหลังปั๊มเสร็จ
3. ใช้คูลเลอร์แพ็ค หรือถุงเก็บน้ำนมเก็บความเย็นในการใส่น้ำนม หรือใช้แก้วที่สะอาดหรือขวดพลาสติกชนิดแข็งที่ปราศจาก BPA ที่มีฝาปิดแน่นหนา แต่อย่าใช้ภาชนะที่มีหมายเลขรีไซเคิล 7 ซึ่งอาจมีสาร BPA และอย่าใช้ขวดนมแบบใช้แล้วทิ้งหรือถุงพลาสติกอื่น ๆ ในการเก็บน้ำนม
4. แนะนำให้ติดฉลากภาชนะบรรจุนมอย่างชัดเจนพร้อมวันที่ปั๊มน้ำนม และเก็บนมไว้ด้านหลังของช่องแช่แข็งไม่ใช่ที่ชั้นวางของประตูช่องแช่แข็งเพื่อไม่ให้ละลาย และแช่แข็งนมในปริมาณเล็กน้อย 2 ถึง 4 ออนซ์ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้ง
5. เมื่อต้องการนำนมออกมาใช้ ให้ละลายนมแม่ที่เก่าที่สุดก่อน นมแม่ไม่จำเป็นต้องอุ่น สามารถให้ลูกน้อยกินนมอุณหภูมิห้องได้เลย วิธีละลายน้ำนม คือ ให้นำขวดหรือถุงนมแช่แข็งมาใส่ในตู้เย็นช่องปกติข้ามคืน ถ้าต้องการอุ่นน้ำนมแม่ ให้ปิดภาชนะให้สนิทขณะอุ่น ห้ามใส่ขวดนมหรือถุงนมในไมโครเวฟโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดจุดร้อนที่อาจทำให้ปากทารกไหม้และทำให้น้ำนมเสียหายได้ อย่าลืมทดสอบอุณหภูมิก่อนป้อนให้ลูกน้อยโดยหยดลงบนข้อมือ นมควรมีอุณหภูมิที่อุ่นและไม่ร้อน และหากละลายนมไปแล้วอย่านำกลับไปแช่แข็งใหม่แต่ควรใช้ให้หมดใน 2 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นควรทิ้ง
รู้ก่อนดีกว่า! นมแม่ออกมาละลายอยู่ได้กี่ ชม. ?
คุณแม่ที่กำลังสงสัยว่านมแม่ออกมาละลายอยู่ได้กี่ ชม. ? โดยพื้นฐานแล้วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิห้องเป็นหลักด้วย แต่โดยปกตินมที่ละลายแล้วจะเก็บได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง หากพ้น 2 ชั่วโมงไปแล้ว และทารกกินนมนั้นไม่หมด หรือนมเหลือ ให้ทิ้งนมนั้นทันที ไม่ควรนำน้ำนมที่เหลือมาอุ่นซ้ำรอบสอง หรือนำกลับไปแช่แข็งแล้วเอากลับมาอุ่นให้ทารกกินอีก เนื่องจากเสี่ยงจะทำให้ทารกท้องเสีย นอกจากนี้ แม่ ๆ ควรมีการดมกลิ่นนมสต็อกหลังจากผ่านการละลายน้ำแข็งทุกครั้ง เพื่อเช็คให้แน่ใจว่านมไม่บูด
เรื่องควรรู้สำหรับคุณแม่มือใหม่ นมแม่ออกจากตู้เย็นอยู่ได้กี่ชั่วโมง ?
- นมแม่ที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง สามารถอยู่ได้นาน 4 ชั่วโมง
- มแม่ที่แช่ในตู้เย็นช่องปกติสามารถเก็บไว้ได้ 8 วัน
- นมแม่ที่แช่ในช่องแช่แข็ง สามารถเก็บได้ 2 สัปดาห์
- นมแม่ที่แช่ไว้ในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน
ตารางระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่
กรณีไม่ได้แช่ตู้เย็น | ระยะเวลาการเก็บ | |
อากาศร้อน | อากาศเย็น | |
นมแม่ที่ไม่ได้แช่ตู้เย็น (27-32 องศา) | 2 ชั่วโมง | 3-5 ชั่วโมง |
ห้องแอร์ (20-26 องศา) | 3 ชั่วโมง | 6-8 ชั่วโมง |
กระเป๋าเก็บความเย็น (15-20 องศา) | 8 ชั่วโมง | 8-24 ชั่วโมง |
กรณีแช่ตู้เย็น | ตู้รวม (เปิดปิดบ่อย) | ตู้แยก (เปิดปิดไม่บ่อย) |
ตู้เย็นช่องธรรมดา (1-5 องศา) | 24 ชั่วโมง | 3-7 วัน |
ตู้เย็นช่องแช่แข็ง แบบ 2 ประตู (0 ถึง -4 องศา) | 1-2 สัปดาห์ | 4-6 เดือน |
ตู้เย็นแช่แข็งควบคุมอุณภูมิแบบแยกประตู (-15 ถึง -23 องศา) | 3-6 เดือน | 6-12 เดือน |
ข้อควรระวัง :
- ไม่ควรเก็บน้ำนมไว้ที่ประตูตู้เย็น เพราะจะทำให้อุณหภูมิไม่คงที่
- เมื่อต้องการนำนมแม่ที่แช่แข็งมาใช้ ให้นำลงมาแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน (12 ชั่วโมง)
- ไม่ควรนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับไปแช่แข็งอีก
- น้ำนมที่เหลือจากการป้อนลูก แนะนำให้ใช้ภายใน 1-2 ชั่วโมง (กรณที่ต้องการเก็บไว้ป้อนลูกอีก)
ไขข้อสงสัย นมแม่แช่เย็นต้องอุ่นก่อนไหม ?
ต้องบอกก่อนว่านมแม่แช่แข็งและนมแม่แช่เย็นไม่เหมือนกัน ในกรณีที่ถามว่า ‘นมแม่แช่เย็นต้องอุ่นก่อนไหม ?’ คำตอบคือ การให้ลูกดื่มนมแม่แช่เย็น ไม่ได้ทำให้ลูกท้องเสียแต่อย่างไร และคุณค่าสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกน้อยก็ยังครบถ้วน แต่ทางที่ดีนมแม่ควรจำต้องนำมาอุ่นก่อน เพื่อให้น้ำนมมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับนมที่ดูดจากเต้า เพื่อให้ทารกรู้สึกคุ้นชินและไม่เลือกดื่ม นอกจากนี้ นมแม่แช่เย็น อาจมีการแยกชั้นของไขมันในน้ำนม ทำให้ไขมันไปกองอยู่ใต้ถุง การอุ่นนมจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยรวมชั้นไขมันเข้ากับน้ำนมใหม่นั่นเอง
การละลายหรืออุ่นนมหากทำไม่ถูกต้อง อาจทำให้ลูกเจ็บป่วยท้องเสีย แถมยังสูญเสียสารอาหารที่มีคุณค่าในนมแม่ไปได้ เราจึงขอแนะนำวิธีการอุ่นนมที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับประโยชน์ของนมแม่แบบเต็ม ๆ ดังนี้
- วิธีละลายน้ำนมแม่ ด้วยอุณหภูมิห้อง : หาภาชนะมาใส่และวางไว้ในจุดที่สะอาดปลอดภัย ไม่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน หรือมีแมลงวันมาตอม ข้อควรระวังคือ หากลืมแล้วปล่อยทิ้งไว้นานเกิน นมอาจเสียได้
- การอุ่นนมแม่ ด้วยน้ำอุ่น : นำนมแม่ไปแช่ไว้ในถ้วยที่ใส่น้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาอุณหภูมิห้อง จนนมแม่หายเย็น ย้ำว่าน้ำอุ่นเท่านั้น ไม่ควรเป็นน้ำร้อน เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำลายคุณค่าทางอาหารในน้ำนม
- วิธีละลายน้ำนมแม่โดยใช้เครื่องอุ่นนม : อีกหนึ่งวิธียอดฮิตของคนยุคใหม่ ตัวช่วยอำนวยความสะดวกคุณแม่ได้มากในการเลี้ยงลูก ประหยัดเวลา และไม่ทำลายประโยชน์ของนมแม่
ข้อควรระวัง : อุณหภูมิที่ใช้ในการอุ่นนมแม่ ไม่ควรจะร้อนเกินกว่าอุณหภูมิห้องปกติ หรือไม่เกิน 40 องศา และไม่ควรนำนมแม่อุ่นไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะความร้อนจะทำให้สารอาหารที่สำคัญในน้ำนมลดลงได้ เวลานำนมแม่มาอุ่นเพื่อให้ลูกกิน สามารถแกว่งขวดนมแม่ไปมาเบา ๆ ได้ แต่ห้ามเขย่าแรงเด็ดขาด
น้ำนมแม่มีสารอาหารมากมายที่เหมาะกับความต้องการของทารกที่กำลังเติบโต ประโยชน์ของนมแม่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยเมื่อโตขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันโรคและเชื้อโรคต่าง ๆ จะดีแค่ไหนหากคุณแม่มือใหม่เลือกที่จะให้นมลูกด้วยตัวเอง แค่เพียงจัดการและวางแผนตามวิธีเก็บนมแม่ที่ถูกต้อง ไปจนถึงการให้ความสำคัญเรื่องควรรู้สำหรับคุณแม่มือใหม่ เช่น นมแม่ออกมาละลายอยู่ได้กี่ ชม. ? นมแม่ออกจากตู้เย็นอยู่ได้กี่ชั่วโมง ? นมแม่แช่เย็นต้องอุ่นก่อนไหม ? วิธีการอุ่นนมสำหรับคุณแม่ที่สต๊อกนมทำอย่างไรบ้าง ? ก็จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในวัยที่เขาต้องการเลยล่ะ
อ้างอิง : rakluke.com, bumrungrad.com, phyathai.com, babygiftretail.com, enfababy.com
Feature Image credit : Freepik