เชื่อว่ามีเพื่อน ๆ หลายคน ที่มีงานอดิเรกเป็นการนอน ว่างเมื่อไรเป็นต้องหามุมสำหรับงีบหลับเพื่อพักผ่อน ในวันหยุดก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องนอน ชดเชยพลังงานที่สูญเสียไปจากการเรียนหรือทำงานอย่างหนักหน่วงมาทั้งสัปดาห์ แต่การนอนเยอะ ๆ ก็ไม่ได้ส่งผลดีกับสุขภาพเสมอไป เพราะอะไรที่มันมากไปก็อาจส่งผลเสียได้ แต่บทความนี้ เราจะขอแบ่งปันคำแนะนำดี ๆ สำหรับคนชอบนอน ว่า นอนยังไง ให้หลับสนิทเต็มอิ่ม เพื่อให้ทุกคนได้นอนหลับพักผ่อนกันอย่างแฮปปี้ และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย


เรื่องราวของการนอนหลับ คนแต่ละวัย นอนยังไง บ้าง
เพราะการนอนหลับเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตของคนเราในแต่ละวัน ใน 24 ชั่วโมง เป็นเวลาสำหรับการนอนหลับไปแล้ว 8 ชั่วโมง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้คนเรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
ในแต่ละช่วงวัย ก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ เมื่อเติบโตขึ้น ร่างกายอาจไม่ได้นอนหลับได้ลึกเท่าในวัยเด็ก ซึ่งความแตกต่างของช่วงวัยและระยะเวลาในการนอนก็คือ
- เด็กวัยแรกเกิด ต้องการนอนหลับ 20 ชั่วโมง ขึ้นไป
- วัยเด็ก (1-5 ปี) ต้องการการนอนหลับ 12 ชั่วโมง ขึ้นไป
- วัยเด็กโต (6-12 ปี) ต้องการการนอนหลับ 9-11 ชั่วโมง
- วัยรุ่น (13-18 ปี) ต้องการการนอนหลับ 8-10 ชั่วโมง
- วัยผู้ใหญ่ (19 ปี เป็นต้นไป) ต้องการการนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง
เรามักจะเห็นและทราบกันมาตลอดว่า สถิติทั่วไปของการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คือการนอนหลับ 8 ชั่วโมง/วัน แต่จริง ๆ แล้ว ช่วงเวลาที่กำหนดมาให้ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นเพียงการกำหนดคร่าว ๆ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการใช้ชีวิตได้ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม บางคนก็นอนหลับเพียง 5-6 ชั่วโมง ก็ตื่นมาอย่างสดชื่นได้เช่นกัน ถ้าหลับลึกและอยู่ในรอบ Sleep Cycle (วงจรการนอนหลับ) ก็เป็นการนอนหลับอย่างเพียงพอ ตื่นขึ้นมาได้อย่างสดชื่นเช่นกัน
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรานอนหลับไม่เพียงพอ


การที่คนเรานอนหลับไม่เพียงพอนั้นก็มาจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความเครียด, การเสียสมดุลเวลาของการนอนจากการเดินทางข้ามประเทศ (Jet lag), การรับประทานอาหารที่รบกวนระบบต่าง ๆ ในร่างกาย, ปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งลักษณะของการนอนไม่หลับ คือการที่ใช้เวลานานกว่าจะหลับ ทั้ง ๆ ที่อาจจะปิดไฟในห้อง นอนหลับตาอยู่บนเตียงนอนแล้ว แต่ยังรู้สึกตัวอยู่ หรือยังหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดทั้งคืน ถ้าเป็นแบบนี้บ่อย ๆ จะเกิดปัญหากับสุขภาพของคุณแน่ ๆ เพราะการนอนไม่พอจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพมากมาย เช่น
- ผิวพรรณไม่ผ่องใส, สิวขึ้น
- อารมณ์แปรปรวนง่าย
- ระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวน เช่น ระบบย่อยอาหาร, ระบบขับถ่าย
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- กระบวนการคิดวิเคราะห์, ความจำ และการตัดสินใจ จะเชื่องช้าลง
- เสี่ยงเป็นโรคอ้วน
- เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
- เสี่ยงโรคเบาหวาน
- เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
- เสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
แล้ว นอนยังไง ให้ดีต่อสุขภาพ ตื่นมาสมองไบรท์


- งดดื่ม
งดดื่มเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ และทำให้นอนไม่หลับ
- คลายเครียด
ในช่วงเวลาก่อนนอน พยายามปล่อยวางเรื่องที่กังวลหรือเรื่องทำให้เกิดความเครียดในเวลากลางวัน หากหยุดคิดไม่ได้ ให้ลองจดบันทึกสิ่งนั้น ๆ เอาไว้ เพื่อกลับมาแก้ไขในเช้าวันต่อไป แล้วพักเรื่องนั้น ๆ เอาไว้ก่อน จะได้นอนหลับอย่างสบายใจ ไม่ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก
- งด gadget
ก่อนถึงเวลาเข้านอนประมาณ 30 นาที ควรงดเล่นอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีผลทำให้คนเรานอนหลับได้ยากขึ้น แสงสีฟ้าจากหน้าจอจะส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว และหลั่งสารเมลาโตนินออกมา จึงทำให้สมองทำงานอยู่ตลอดเวลา และไม่ได้พักผ่อน
- ไม่งีบหลับ
พยายามไม่งีบหลับเป็นระยะเวลานาน ๆ ในเวลากลางวัน หรือเวลาเย็น เพราะพฤติกรรมนี้จะเป็นการหลอกสมองว่าร่างกายได้นอนหลับพักผ่อนไปแล้ว ส่งผลให้ตอนกลางคืนจะหลับยาก หากรู้สึกเหนื่อยมาก และต้องการงีบจริง ๆ แนะนำว่าให้งีบหลับในท่านั่งหรือฟุบหลับแล้วงีบ โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที เพื่อไม่ให้ระบบในร่างกายรวน
- ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย เป็นการช่วยเผาผลาญพลังงานที่สะสมมาทั้งวัน ช่วยให้ร่างกายได้ขับของเสียที่สะสมอยู่ออกมาทางเหงื่อ และช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่มากขึ้น ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง
- ดูแลสุขภาพ
นอกจากการนอนหลับแล้ว อย่าลืมใส่ใจสุขภาพของตนเอง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหาเวลาออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง หากต้องการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น แนะนำให้ลองเลือกความคุ้มครองดี ๆ จากประกันสุขภาพสักแผน หากไม่อยากออกไปพบปะผู้คนเยอะ ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรค สามารถซื้อประกันออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของ rabbit finance ได้เลย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมแบบไม่เสียค่าบริการก็ได้เช่นกัน