ทำความรู้จักอาการครรภ์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษคืออะไร ลักษณะครรภ์เป็นพิษอาการเป็นอย่างไร และอาการครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร มีวิธีดูแลอย่างไร
การเป็นคุณแม่คนใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น หากคุณเป็นคุณแม่ที่อุ้มท้องไปจนคลอดได้อย่างราบรื่นก็ดีใจได้เลยว่าคุณเป็นคุณแม่ที่โชคดีที่สุดแล้ว เพราะโดยปกติแล้วกว่าที่จะไปถึงวันคลอดคุณแม่มักต้องเผชิญกับภาวะแพ้ท้อง ความวิตกกังวลกับรูปร่างที่เปลี่ยนไป และคุณแม่บางท่านก็ยังอาจต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์อย่างอาการครรภ์เป็นพิษที่เป็นภาวะเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่เองรวมถึงตัวลูกน้อยในครรภ์ด้วย
ภาวะอาการครรภ์เป็นพิษเป็นเรื่องที่ซีเรียสสำหรับคนท้อง และมีโอกาสเกิดขึ้นกับว่าที่คุณแม่ได้ทั่วไป โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์โดยมีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ดังนั้นคราวนี้เราจึงจะมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ และพาไปทำความรู้จักว่าครรภ์เป็นพิษคืออะไร และอาการครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไรกันแน่


หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
อาการครรภ์เป็นพิษคือ
อาการครรภ์เป็นพิษคือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่ทำให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูง ที่มักเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ราว 20 สัปดาห์ ซึ่งทำให้คุณแม่มีอาการไม่พึงประสงค์แบบต่าง ๆ นอกเหนือไปจากการแพ้ท้อง โดยเฉพาะการปัสสาวะเป็นฟอง มีโปรตีนในปัสสาวะ ร่วมกับภาวะความดันสูงซึ่งอาจสูงได้ถึง 140/90 มิลลิเมตรปรอท
ซึ่งภาวะความดันสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำให้อวัยวะภายในของคุณแม่เสียหายโดยเฉพาะไต หัวใจ ปอด และเป็นสาเหตุใก้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ซึ่งหากไม่รีบอยู่ในการดูแลของแพทย์ก็อาจทำให้คุณแม่ชักหมดสติ และเป็นอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย
ครรภ์เป็นพิษเกิดจาก
อาการครรภ์เป็นพิษเกิดจากการฝังตัวของรกผิดปกติที่ฝังตัวได้ไม่แน่น ทำให้รกบางส่วนไม่ได้รับออกซิเจน เมื่อรกขาดเลือดก็จะหลั่งสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ และเมื่อถึงระดับหนึ่งก็จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับคุณแม่ ซึ่งจะมีความรุนแรงในหลายระดับ คือ
- ครรภ์เป็นพิษระดับที่ไม่รุนแรง (Non – Severe Pre – Eclampsia) ภาวะนี้คุณแม่จะมีความดันสูงในระดับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน คุณแม่จะสามารถกลับบ้านได้แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด
- ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง (Severe Pre – Eclampsia) ขั้นนี้คุณแม่จะมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก สูงกว่า 160/110 และเริ่มตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ
- ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia) คุณแม่อาจมีภาวะชัก หมดสติ ในขั้นนี้คุณแม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อให้ใกล้ชิดคุณหมอและรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากมีภาวะฉุกเฉิน และจะต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด


ภาวะแทรกซ้อนของอาการครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ที่ประสบภาวะครรภ์เป็นพิษมักมีอาการเริ่มต้นจาก
- ทารกในครรภ์เติบโตช้า เพราะออกซิเจนที่ไปเลี้ยงทารกมีไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้ทารกที่คลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้
- ทารกคลอดก่อนกำหนด มักเป็นตัวเลือกที่แพทย์ใช้เพื่อรักษาอาการครรภ์เป็นพิษ เพื่อรักษาคุณแม่และลูกให้ปลอดภัย
- มีกลุ่มอาการ HELLP ที่เป็นอันตรายกับคุณแม่และลูก เนื่องจากทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ค่าตับอักเสบสูง เกล็ดเลือดต่ำ คุณแม่จะมีอาการ ความดันสูง ตาพร่า ปวดศีรษะมาก แม้จะกินยาแก้ปวดก็ไม่หาย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทันที
- คุณแม่มีอาการบวม โดยเฉพาะใบหน้า มือและเท้า มีน้ำหนักเพิ่มเร็วกว่าปกติ
- ความดันที่สูงขึ้นทำให้อวัยวะภายในของคุณแม่เสียหาย เช่น ไต ปอด หัวใจ ดวงตา เช่นเดียวกับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง บางกรณีทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง กระทบกับการทำงานของสมองได้ด้วย
- คุณแม่ทีมีอาการรุนแรงอาจชัก หมดสติ
ซึ่งหากคุณแม่เริ่มสงสัยว่ามีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจยืนยันให้เร็วที่สุด
คุณแม่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอาการครรภ์เป็นพิษ
สำหรับคุณแม่ที่มีโอกาสเสี่ยงกับอาการครรภ์เป็นพิษคือคุณแม่ที่มีโอกาสที่รกจะฝังตัวไม่แน่น นั่นก็คือ
- คุณแม่ที่มีโรคอ้วน
- คุณแม่สูงอายุที่ตั้งครรภ์อายุเกินกว่า 35 ปี
- คุณแม่ที่มีพันธุกรรมครรภ์เป็นพิษ
- คุณแม่ที่มีบุตรยาก
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ผิดปกติ
- คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ฯลฯ
ซึ่งหากคุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีอาการครรภ์เป็นพิษก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
การดูแลว่าที่คุณแม่ที่ประสบภาวะครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการคลอด แต่หากคลอดที่อายุครรภ์น้อยก็อาจกระทบกับพัฒนาการของทารกได้ ดังนั้นเมื่อคุณแม่มีอาการครรภ์เป็นพิษ คุณหมอก็มักจะมีการติดตามการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด โดยอาจมีการจ่ายยาในช่วงเริ่มแรก แต่หากอาการเริ่มรุนแรงคุณแม่ก็อาจต้องแอดมิทเพื่ออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อประคองอายุครรภ์ให้ยาวที่สุด หรือเร่งผ่าคลอด และเมื่อคลอดเรียบร้อยแล้วคุณแม่ยังมีโอกาสความดันสูงและชักภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด แต่ส่วนใหญ่มักจะกลับเป็นปกติได้ใน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้วิธีที่ป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับว่าที่คุณแม่ เนื่องจากเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงความผิดปกติของร่างกายที่จะเพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งคุณแม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษได้จากการไปตรวจครรภ์ตามที่คุณหมอนัดทุกครั้งสม่ำเสมอ เนื่องจากยิ่งตรวจพบภาวะครรภ์เป็นพิษได้เร็วเท่าไหร่ การรักษาก็จะง่ายขึ้นและไม่ต้องดูแลมากอย่างที่คุณแม่ที่อยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรงแล้ว


จากที่กล่าวมาทั้งหมด คุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของอาการครรภ์เป็นพิษหรือท้องนอกมดลูกควรพบคุณหมอเป็นประจำตามนัดสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้คุณแม่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ และมีโอกาสตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว ครรภ์เป็นพิษก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่เมื่อตรวจพบได้เร็วการรักษาก็จะเป็นไปได้ง่ายและปลอดภัยกว่าการที่เริ่มรักษาเมื่อมีอาการมากแล้ว ซึ่งแม้โรคนี้จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้นอกเหนือไปจากการคลอด การป้องกันตั้งแต่เริ่มแรกจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณแม่ที่จะปลอดภัยกับทั้งตัวเองและเบบี๋ในครรภ์ด้วย