เมล่อนเป็นผลไม้รสหวานฉ่ำเติมความสดชื่น นิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้และนำมาเป็นส่วนผสมในขนมหวานหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นบิงซู ไอศกรีม หรือนำมาประยุกต์ใช้กับขนมไทยชนิดต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่ประโยชน์ที่เรานำมาใช้ แต่เมล่อนยังเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยเบตาแคโรทีนและวิตามินเอสูง ทำให้นอกจากดับร้อนแล้วยังช่วยบำรุงสายตา ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ด้วย
และด้วยคุณประโยชน์มากมายขนาดนี้เพื่อน ๆ คงเริ่มสนใจแล้วว่ามีวิธีปลูกเมล่อนกันอย่างไร เราจะมีวิธีการปลูกเมล่อนเอาไว้รับประทานเองได้บ้างหรือไม่ จะมีวิธีเพาะเมล็ดเมล่อนได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีวิธีปลูกเมล่อนในกระถางเพื่อให้คนที่มีพื้นที่จำกัดสามารถปลูกเมล่อนได้หรือไม่ คราวนี้เราจะตามมาดูกัน


หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
1. ทำความรู้จักกับเมล่อน
เมล่อน ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งพืชตระกูลแตง ที่รวมทั้ง แตงกวา แตงโม ฟัก น้ำเต้า แคนตาลูป ฯลฯ โดยเมล่อนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo ลักษณะต้นเป็นเถาเลื้อย ออกผลได้ทั้งทรงกลมและกลมรี เนื้อผลหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม ตัวผลค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมาก เปลือกหนา ซึ่งเปลือกมีได้ทั้งแบบเรียบ แบบร่องยาวจากขั้วไปจนถึงปลายใบ หรือเป็นแบบเป็นตาขายลายทั้งใบก็ได้ทั้งนั้น สันนิษฐานว่าเป็นพืชพื้นเมืองแถบเทือกเขาแอนดีส ในประเทศเขตอเมริกาใต้
สายพันธุ์เมล่อนที่พบเห็นได้ทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่
1. Cantaloupe หรือ Rock melon เป็นพันธุ์เมล่อนที่มีขนาดผลค่อนข้างใหญ่มีน้ำหนักมากกว่า 1 กิโลกรัมขึ้นไป เปลือกหนาเป็นลายร่องยาวจากขั้วถึงปลายผล ส่วนใหญ่มีเนื้อสีส้ม
2. Musk melon, Netted melon หรือ Persian melon สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มีจุดเด่นที่เปลือกจะมีลวดลายเป็นตาข่าย ผลเป็นทรงกลมและมีขนาดเล็กกว่าแบบแรก มีเนื้อทั้งสีเขียวและสีส้ม
3. Winter melon เมล่อนสายพันธุ์นี้มักมีผิวเกลี้ยงสีเขียวเข้ม
4. Snak melon เป็นพันธุ์เมล่อนที่แตงไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้
5. Oriental pickling melon มีลักษณะคล้ายกับ Winter melon แต่เมล่อนในกลุ่มนี้จะมีผิวเกลี้ยงและมีลวดลายเป็นร่องยาวจากขั้วถึงปลายลูก มีผลขนาดเล็กกว่าชนิดอื่น
ซึ่งต่อไปนี้เราจะพูดถึงวิธีการปลูกเมล่อนในชนิดที่ 2 ที่เรากล่าวถึงมาแล้วกัน
2. ธรรมชาติของเมล่อน
สำหรับธรรมชาติของต้นเมล่อนนั้นสามารถเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ที่เหมาะที่สุดก็คือดินร่วนปนทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดีโดยไม่ปล่อยให้น้ำขัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคกับรากและลำต้นได้ โดยที่มีความเป็นกรดด่างของดินที่ค่อนข้างเป็นกลาง นั่นคืออยู่ที่ประมาณ pH 6.5 – 7 และเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศแบบอบอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 25 – 35 องศาเซลเซียส มีแสงแดดเพียงพอ ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ และต้องการน้ำสม่ำเสมอในช่วงที่มีการเติบโตของราก ใบ และลำต้น แต่จะเริ่มต้องการน้ำน้อยลงเมื่อเป็นระยะที่เริ่มติดผล


3. คู่มือการปลูกเมล่อน: วิธีปลูกเมล่อนในกระถางให้ได้ผลดี
วิธีปลูกเมล่อนในกระถางเหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้ใครก็สามารถเป็นเจ้าของเจ้าต้นเมล่อนเพื่อปลูกเอาไว้ในบ้านได้แบบง่าย ๆ ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมก็คือต้นอ่อนเมล่อน การเตรียมดิน การให้น้ำการให้ปุ๋ย การทำค้างและการดูแลอื่น ๆ ที่เราจะมาพูดถึงดังต่อไปนี้
การเตรียมดิน
เตรียมดินด้วยการผสมดิน 4 ส่วนต่อปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วนลงในกระถาง โรยต่อด้วยปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด่างในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นเมล่อน หลังจากนั้นก็ตากดินทิ้งไว้ 7 – 10 วันเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงที่อาจปนมากับดิน หลังจากนั้นย้ายต้นอ่อนเมล่อนมาลงกระถางได้เลย
หลังจากต้นเมล่อนเริ่มโตได้สัก 30 เซนต์ให้เริ่มปักค้างด้วยไม้ไผ่เพื่อให้ต้นเลื้อยไม่ตกระไปกับดิน
การดูแล
เมล่อนชอบน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ชอบน้ำขัง ดังนั้นอาจต้องรดนำให้สม่ำเสมอ หรือในบางสวนอาจใช้ระบบน้ำหยดเพื่อตัดปัญหาการให้น้ำ
การให้ปุ๋ย เมื่อต้นเริ่มเลื้อยขึ้นค้างให้เริ่มใช้ปุ๋ยยูเรียโรยขอบกระถางก่อนรดน้ำตอนเย็น และเมื่อต้นเมล่อนเริ่มติดผลเริ่มให้น้ำมากขึ้น และโรยปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อกระถาง โดยให้ก่อนรดน้ำตอนเย็น
เมื่อต้นเมล่อนเริ่มออกผล ให้คอยตัดแต่งกิ่งและริดใบออกให้เหลือใบไม่มาก เพื่อให้อาหารที่รากดึงมาจากดินสามารถนำไปเลี้ยงผลให้เติบโตได้อย่างเต็มที่
โดยปกติแล้วเมล่อนเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวราว 50 – 55 วัน อาจมากน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับการปลูกและการดูแลรักษา
4. วิธีเพาะเมล็ดเมล่อน: วิธีปลูกเมล่อนจากเมล็ด
สำหรับหัวใจของวิธีปลูกเมล่อนจากเมล็ดนั้นอยู่ที่วิธีเพาะเมล็ดเมล่อน เนื่องจากต้นกล้าที่แข็งแรงจะทำให้การบำรุงดูแลอื่น ๆ เป็นเรื่องง่ายตามไปด้วย ดังนั้นเรามาดูวิธีเพาะเมล็ดเมล่อนกันเลย
อันดับแรกให้เพาะเมล็ดเมล่อนในกระดาษทิษชู่ชุบน้ำหมาด แล้วปิดไว้เพื่อเป็นการบ่มให้เมล็ดงอก หลังจากผ่านไป 2 – 3 วันเมล็ดจะเริ่มงอกราก ก็นำไปลงดินเพาะต่อในถาดเพาะกล้า รดน้ำเช้าเย็น
เมื่อเมล็ดงอกพ้นผิวดินและเริ่มแตกใบแท้ 2 – 3 ใบ ก็เริ่มย้ายนำไปลงกระถางหรือแปลงปลูกเมล่อนต่อได้เลย โดยที่วันที่ต้องการย้ายปลูกให้งดการรดน้ำในช่วงเช้า


และเหล่านี้ก็เป็นวิธีการปลูกเมล่อนแบบง่าย ๆ เป็นวิธีปลูกเมล่อนในกระถางที่ใครก็สามารถทำได้โดยไม่ได้อาศัยพื้นที่ในการปลูกมาเลย แต่เป็นการใช้พื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านให้เป็นประโยชน์ ทำให้เราได้รับประทานผลเมล่อนที่อุดมด้วยคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเบตาแคโรทีน ตามินเอและวิตามินซีสูง ช่วยลดความดันโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงดวงตา คลายร้อน และยังสามารถช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าวิธีการปลูกเมล่อนให้ได้ผลดีนั้นหัวใจอยู่ที่วิธีเพาะเมล็ดเมล่อนให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง หลังจากนั้นเมื่อนำไปลงกระถางปลูกและดูแลดี ๆ อีกไม่ถึงสองเดือนเราก็จะได้ผลผลิตเป็นผลเมล่อนกลม ๆ น่ารัก ๆ ให้ได้ชื่นใจกันแล้วแบบไม่ยากเลย