เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงทางใดทางหนึ่ง แพทย์อาจจะให้มีการวินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มต้นการฝากครรภ์ครั้งแรก หรือหากยังพบว่าปกติอยู่ก็จะให้มีการวินิจฉัยตรวจเบาหวานคนท้องเพิ่มเติมในช่วงเข้าสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากการตรวจพบภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้ไม่เพียงพอ และจะส่งผลเสียต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์และส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์โดยส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการใดออกมาให้เห็นชัดเจนและมักพบว่าจะเป็นการของการตั้งครรภ์ เช่นจะรู้สึกกระหายน้ำมาก เหนื่อยง่ายมีอาการอ่อนเพลียและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หากไม่มีการแจ้งอาการเหล่านี้กับแพทย์ที่รับฝากครรภ์ก็อาจจะปล่อยให้เกิดความผิดปกติมากขึ้น และส่งผลต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยความผิดปกติจากการตรวจพบภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลอย่างไรบ้าง
ส่งผลต่อทารก
- ทารกอาจจะมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ได้ หากไม่ได้รับการรักษา
- มีโอกาสที่จะทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้
- อาจจะเกิดภาวะอันตรายขณะคลอด ซึ่งทารกจะมีตัวใหญ่กว่าปกติทำให้คลอดยาก
- ทารกจะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติทันทีหลังคลอด
- ทารกที่เกิดจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
- ทารกจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้อีก และในอนาคตก็ยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
ส่งผลต่อคุณแม่
- คุณแม่ที่ตรวจพบเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และหากร่างกายมีความดันโลหิตสูงรวมถึงมีโปรตีนรั่วไปในปัสสาวะ จะทำให้มีโอกาครรภ์เป็นพิษได้
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะทำให้ขนาดของทารกใหญ่กว่าปกติ และจะมีโอกาสคลอดลำบากทำให้จำเป็นต้องผ่าคลอด
- คุณแม่มีอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติหรือมีโอกาสมากถึง 7.4 เท่า
- จะมีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานขึ้นตา โรคไต หรือเส้นประสาทถูกทำลายได้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติเป็นเวลานาน
สาเหตุเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาจากอะไรบ้าง
- คุณแม่ก่อนตั้งครรภ์เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน กว่าเกณฑ์มาก่อน
- ในครรภ์แรกคุณแม่เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
- มีประวัติการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ของสมาชิกในครอบครัวฝ่ายหญิง
- อยู่ในกลุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นโรคเบาหวาน แต่ยังวินิจฉัยไม่ได้
- มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน หากพบว่าเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ


เวลาที่เหมาะสมในการตรวจเบาหวานคนท้อง
- ในการตรวจโรคเบาหวานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยปกติแพทย์จะให้มีการตรวจเบาหวานคนท้องในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ นอกจากว่าคุณแม่มีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน
- หากมีปัจจัยความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้มีการตรวจเบาหวานคนท้องตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ที่โรงพยาบาลทันที
วิธีดูแลตัวเองเมื่อพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือมีการเตรียมตัวไว้แล้ว จะสามารถที่จัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยการควบคุมอาหารงดประเภทที่จะเป็นอันตรายต่อเบาหวาน หรือตามที่แพทย์แนะนำและเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ หรือการออกกำลังสำหรับหญิงมีครรภ์ ซึ่งอย่างไรก็ตามในบางรายก็ยังจะต้องทานยาตามที่แพทย์สั่งควบคู่ไปด้วย
1. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- สำหรับค่าน้ำตาลในเลือดสูงของคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรจะต้องมีการควบคุมอาหาร โดยให้ทำตามคำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งจะมีการแนะนำโปรแกรมการรับประทานอาหารที่มีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาล
- หากมีการใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน แทนที่จะใช้น้ำตาลกลูโคสซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ โดยสามารถจะตรวจได้จากเลือด ซึ่งหากน้ำตาลสูงจะส่งผลให้ร่างกายมีการผลิตสารคีโตน โดยต้องรีบแก้ไขเพื่อลดน้ำตาลให้เป็นปกติ
- หากตรวจพบว่ามีสารคีโตนมากกว่าปกติ ซึ่งจะพบได้ในปัสสาวะและเลือด แพทย์จะปรับเปลี่ยนประเภทและปริมาณของอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้เหมาะสมที่ควรรับประทานและตามช่วงเวลาของการรับประทานอาหาร


2. การออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับหญิงตั้งครรภ์
- เพื่อที่จะให้ระดับน้ำตาลกลูโคสอยู่ในเกณฑ์ปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หนักหรือเหนื่อยเกินไป
- หากมีความดันโลหิตสูง หรือมีระดับคอเลสเตอรอลสูง การออกกำลังกายจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นได้
- เป็นการช่วยลดความเครียดได้อีกทาง และยังเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก หัวใจ กล้ามเนื้อ ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้สะดวก
3. การดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ปัจจัยที่ควบคุมได้
การควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานควรจะเริ่มตั้งแต่การวางแผนก่อนตั้งครรภ์ โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้มีประโยชน์มากขึ้น รวมไปถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมตามช่วงเวลาต่าง ๆ ในระยะการตั้งครรภ์
- ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
เช่น ประวัติการเป็นเบาหวานในครอบครัว ซึ่งอาจจะป้องกันได้ยาก รวมทั้งสรีระร่างกายของคุณแม่ที่อาจจะเป็นโรคอ้วนอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีในเรื่องของการตั้งครรภ์ในหญิงที่มีอายุมากขึ้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะผิดปกติขณะตั้งครรภ์ได้
ในกรณีที่ทำทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง การควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมไปถึงการออกกำลังกาย แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้มีการฉีดอินซูลินในขณะตั้งครรภ์เพื่อเป็นการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลอีกทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้คุณแม่ก็ยังจะต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน
- ควรจะต้องรับประทานอาหารสำหรับคนท้องที่มีโปรตีนควบคู่กับการดูแลของแพทย์
- ให้มีการรับประทานผักให้มากขึ้น และต้องลดอาหารจำพวกแป้งลง
- งดเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน น้ำอัดลม ชาหรือกาแฟ อย่างเด็ดขาด
- ควรจะต้องหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มะขามหวาน ขนุน เป็นต้น
- ให้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างสมดุลภายในร่างกาย
อย่างไรก็ตาม เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจจะไม่ได้ร้ายแรงมากจนน่ากลัว หากมีการตรวจพบตั้งแต่เริ่มต้นการตั้งครรภ์ หรือมีการวางแผนและมีการตรวจสุขภาพไว้อยู่แล้ว รวมไปถึงหากตรวจเบาหวานคนท้องแล้วมีการควบคุมดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และเริ่มการดูแลตัวเอง เพิ่มการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อย่างโยคะคนท้อง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ รับรองได้ว่าจะปลอดภัยทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ และทารกน้อยที่กำลังเตรียมตัวจะออกมาเผชิญกับโลกภายนอกได้อย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ตามเกณฑ์
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลนนทเวช