คุณแม่มือใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งท้องลูกคนแรก เชื่อว่าหลังจากดีใจที่จะได้มีลูกน้อยมาเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์กันแล้ว คงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีประสบการณ์มาก่อน ควรเริ่มต้นฝากครรภ์ตอนไหนหลังจากรู้ผลว่าตัวเองตั้งครรภ์ เตรียมตัวอย่างไรบ้างสำหรับการฝากครรภ์ครั้งแรก มีเอกสารอะไรที่จะต้องเตรียมไปด้วย ในการฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม แล้วคุณหมอต้องตรวจตรวจอะไรบ้าง ทุกคำถามที่สงสัยวันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับการเริ่มต้น ฝากครรภ์ มีอะไรบ้าง เพื่อให้คุณแม่มือใหม่ได้เตรียมความพร้อม จะมีอะไรบ้างนั้นตามไปดูรายละเอียดกันเลย


credit : www.pexels.com
หัวข้อต่างๆ ของบทความนี้
ฝากครรภ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร?
การฝากครรภ์ (Prenatal care) คือ การดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด โดยการตรวจเริ่มตั้งแต่สุขภาพทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เพื่อคอยเฝ้าระวัง ติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นคุณหมอก็จะรีบรักษาให้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งคุณหมอยังได้ให้ความรู้ คำแนะนำต่าง ๆ รวมถึงข้อควรระวังในการปฏิบัติตัวในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ โดยจะนัดตรวจเพื่อติดตามสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ตลอดระยะของการตั้งครรภ์ และไม่ว่าคุณแม่จะท้องครั้งที่เท่าไหร่ก็ต้องมาฝากครรภ์ทุกครั้ง เพื่อประโยชน์ของตัวคุณแม่และลูกน้อย
ควรฝากครรภ์ตอนไหนหลังจากทราบว่าตั้งครรภ์
สำหรับคำถามที่คุณแม่มือใหม่หลายคนสงสัยกันว่า ควรฝากครรภ์ตอนไหน? และต้องฝากท้องกี่เดือน? ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าคุณผู้หญิงสังเกตตัวเองว่ามีอาการคนท้อง ประจำเดือนขาด แนะนำให้ไปหาซื้อที่ตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเบื้องต้น ถ้าผลตรวจออกมาขึ้นเป็น 2 ขีด แสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ และเพื่อเช็กให้ชัวร์ว่าตั้งครรภ์แน่นอน แนะนำให้ไปพบคุณหมอเพื่อตรวจซ้ำอีกครั้ง และถ้าผลออกมาว่าตั้งครรภ์สามารถฝากครรภ์ได้ทันที ดังนั้น คำถามที่ว่าควรฝากครรภ์ตอนไหนดี ต้องบอกว่าเร็วที่สุดหลังจากรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
ฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะตรวจอะไรบ้าง ?
สิ่งที่คุณแม่มือใหม่หลายคนอยากรู้เลย คือเมื่อต้องไป ฝากครรภ์ ครั้งแรกนั้นคุณหมอจะต้องอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องเตรียมไปก่อนไหม แล้วฝากครรภ์ต้องให้สามีไปด้วยไหม โดยส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะมีการตรวจดังต่อไปนี้
1. การตรวจปัสสาวะ
สิ่งแรกที่คุณหมอจะต้องตรวจคุณแม่เมื่อไป ฝากครรภ์ คือ การตรวจปัสสาวะ เพื่อเช็กว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะและโปรตีน เพื่อป้องกันโรคเบาหวานแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ รวมถึงเช็กด้วยว่าร่างกายมีโปรตีนมากเกินไปไหม เพราะถ้ามาเกินไปอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้
2. เจาะตรวจเลือด
สิ่งต่อมาที่คุณหมอจะต้องตรวจเมื่อไป ฝากครรภ์ นั่นก็คือ การตรวจเลือดโดยจะใช้เลือดที่ปริมาณ 10 ซีซี. เพื่อนำไปเช็กค่าความเข้มข้นของเลือด รวมถึงส่วนประกอบของเลือด เช่น กรุ๊ปเลือดอะไร ความสมบูรณ์เลือด ระบบภูมิคุ้มกัน มีโรคเลือดธาลัสซีเมียหรือไม่ รวมถึงการตรวจหาโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน, ไวรัสตับอักเสบ, ซิฟิลิส และเอดส์ เป็นต้น
3. ซักประวัติของคุณแม่
เบื้องต้นคุณหมอจะสอบถามเรื่องทั่วไป เช่น เคยตั้งครรภ์มาก่อนไหม มีโรคประจำตัวอะไรไหม มีการยาที่ใช้ประจำมีอะไรบ้าง หรือแพ้ยาอะไรบ้าง นอกจากนี้แล้วคุณหมออาจจะต้องถามไปถึงสุขภาพของคุณพ่อด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อฝากครรภ์จึงควรให้สามีไปด้วย
4. ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง
เพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นได้ว่าน้ำหนักของคุณแม่อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ รวมถึงส่วนสูงของคุณก็จะไปสัมพันธ์กับขนาดของเชิงกรานสำหรับการคลอด หากคุณแม่ตัวเล็กหรือมีน้ำหนักน้อยเกินไปอาจจะทำให้คลอดได้ยาก ซึ่งอาจจะทำให้ต้องใช้วิธีการผ่าคลอดแทน
5. วัดความดันโลหิต
โดยจะมีการวัดความดันโลหิตทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อเช็กว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดีหรือไม่ ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป ซึ่งถ้าความดันสูงเกินไปคุณหมอจะได้แนะนำแนวทางในการดูแลได้อย่างถูกต้อง
6. อัลตราซาวด์ หรือ การตรวจทางหน้าท้อง
ซึ่งในการฝากครรภ์จะต้องมีการตรวจหน้าท้องของคุณแม่ เพื่อตรวจเช็กว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ หรือท้องนอกมดลูก เพราะถ้าเป็นการท้องนอกมดลูกอาจส่งผลอันตรายแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ยังดูการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ มีขนาดและน้ำหนักเท่าไหร่ เพื่อจะได้เช็กสุขภาพแข็งแรง


ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก
คุณแม่มือใหม่หลายคนเมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ อาจจะยังคงดีใจตื่นเต้นบวกกับยังไม่มีประสบการณ์ในการฝากครรภ์ จึงไม่แน่ใจว่าเมื่อต้องไปฝากครรภ์แล้วต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง โดยเอกสารจำเป็นที่ต้องใช้มีดังนี้
- บัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
- ประวัติทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัว การเจ็บป่วย การแพ้ยา ประวัติการคลอดบุตร การแท้งบุตร รวมถึงประวัติที่มีความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรม
- ข้อมูลการมีประจำเดือนว่าครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ ให้นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยข้อมูลนี้จะมีผลต่อการนับอายุครรภ์
ควรต้องไปหาคุณหมอบ่อยแค่ไหนในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์
โดยปกติแล้วหลังจากฝากครรภ์ คุณหมอก็นัดตรวจเช็กสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์ตามอายุการตั้งครรภ์ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ซึ่งแต่ในแต่ละไตรมาสจะมีการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้
- อายุการตั้งครรภ์ไปจนถึงอายุครรก์ 14 สัปดาห์ โดยช่วงนี้คุณหมอจะนัดตรวจทุก 1 เดือน โดยคุณหมอจะมีการตรวจ ตรวจปัสสาวะหรือเลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ จากนั้นก็ทำการตรวจเพื่อคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดหรือในกระเพราะปัสสาวะ จากนั้นก็เป็นการตรวจเลือดเพื่อเช็กความผิดปกติทางพันธุกรรมของคุณแม่ และตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูความผิดปกติของลูกในครรภ์ ซึ่งการตรวจในช่วงไตรมาสที่ 1 ก็จะมีประมาณนี้
- ในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 15 – 28 สัปดาห์ โดยช่วงนี้คุณหมอยังคงนัดตรวจทุก 1 เดือน การตรวจเลือดเพื่อเช็กน้ำตาลว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน จากนั้นจะมีการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจเช็กโครโมโซมของลูกในครรภ์ ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูเพศของลูก รวมถึงดูพัฒนาการในการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ด้วย
- เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 29 – 42 สัปดาห์ ในช่วงนี้คุณหมอจะนัดตรวจบ่อยขึ้น ซึ่งจะตรวจทุก 2 สัปดาห์ โดยการตรวจนั้นจะเช็กพัฒนาการ น้ำหนักตัว และตรวจสุขภาพลูกในครรภ์ มีความแข็งแรงดีไหม และยิ่งในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์ท้าย ๆ หรือช่วงใกล้คลอด จะต้องตรวจเช็กว่าศีรษะของลูกลงเข้าสู่เชิงกรานของคุณแม่แล้วหรือยัง รวมถึงในช่วงนี้จะมีการฉีควัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยักให้กับคุณแม่ด้วย
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
เมื่อพอรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการฝากครรภ์กันไปบ้างแล้ว คราวนี้มารู้ถึงประโยชน์ของการฝากครรภ์กันบ้างว่ามีสำคัญแค่ไหน ทำไมจึงเป็นจะต้องฝากครรภ์เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งท้อง โดย
- เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์
- ตรวจสุขภาพความแข็งแรงของคุณแม่ได้
- ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
- ช่วยให้ทารกคลอดออกมาได้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์
- เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงอาการแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์
- ลดอัตราการเสียชีวิตของคุณแม่และทารกในครรภ์ กรณีเกิดความผิดปกติ
ฝากครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ให้รีบไปฝากครรภ์ทันที ไม่รอให้ครบกำหนดกี่เดือนแล้วค่อยไปหาคุณหมอ เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่รู้ว่าตั้งครรภ์อย่าลืมดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารดีมีประโยชน์ ดื่มนมให้เยอะ ๆ เสริมแคลเซียม หรือวิตามินคนท้อง เพื่อบำรุงสมอง สุขภาพของลูกให้แข็งแรง และถ้าในช่วงใกล้คลอดอย่าลืมเตรียมซื้อชุดผ้าอ้อม ขวดนม เสื้อผ้าเด็กทารก พอวันคลอดจะได้ไม่ฉุกละหุกนั่นเอง